19 สิงหาคม 2558

ป่วยนะ...มันทรมานจริงๆ น่ะ

ขอบคุณยายจุ๋มจอมแสบที่ช่วยให้เราสนใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น นึกย้อนกลับไปสงสัยตัวเองตอนเด็กเรานี่อยากป่วยเหลือเกินเป็นเพราะอะไร เพราะจะได้หยุดเรียนหรือเปล่า  หรืออาจเป็นเพราะก่อนนั้นเราเองยังไม่เคยป่วยหนักขนาดซึมซับได้ถึงความทรมานจากอาการป่วย จนเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เมื่อเราต้องตกเป็นเหยื่อของไข้เลือดออก การทรมานกับอาการไข้สูงจนหนาวสั่น เป็นชั่วโมง แล้วลดลงจนเหมือนปกติ สลับกับแบบนี้ ทำเราเพลียมาก จนเข้าวันที่ 3 แม่ให้เราไปโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลดันบอกว่าเราป่วยไข้ธรรมดา แถมให้ยาแก้คันมาอีก นี่เราเป็นโรคผิวหนังเองหรอกหรือ..เรากลับออกจากโรงพยาบาลแบบงงๆ ตอนนั้นเราเดินเป๊กๆ แล้วแต่หมอไม่ได้ถามถึงความผิดปกตินี้เลย.ตรงกันข้ามกับสนใจซักไซร้ว่าผื่นแดงๆ นี้คันไหม คันอย่างไร คงคิดว่าเราเป็นคนที่ขาพิการแบบนี้อยู่แล้ว.และก็ให้เรากลับบ้าน

กว่าจะรู้ว่าเป็นไข้เลือดออกก็คงเป็นตอนที่เราตายแล้ว แต่..ยัง...เราโชคดีที่รอดจากอาการพีกมาได้จนเริ่มทุเลาเป็นผื่นตามตัว ตามแขน ตามขาชัดเจนขึ้น มาหาหมออีกที่ ใน 2 วันถัดมา ทีนี้เปลี่ยนเป็นคลีนิก ไม่ไปแล้วโรงพยาบาลจ่ายตังค์เองละกัน เลยได้รู้ว่ามันคือไข้เลือดออก ซึ่งเราอ่อนเพลียมากแล้ว กินอะไรไม่ได้มาหลายวัน เราไม่รู้ว่าคนป่วยคนอื่นเค้าจะหิวไหม แต่เราหิวมาก พอกินไปมันก็อาเจียนออกมาหมด  ตัวเหลือง หมดแรง เราพักรักษาตัวระยะหนึ่งก่อนออกเดินทางเข้าพื้นที่สำรวจ ที่จังหวัดตรัง ที่นั้นเราไปพบกับเจ้าหน้าสาธารณสุขโดยบังเอิญเลยได้คุยกันนิดหน่อย เค้าว่าที่เราเจ็บข้อมือ ข้อเท้า อาจมาจากยุงลายมันมีเชื้อชิกุนคุนยาด้วย..เลยถึงบางอ้อ.

นั่นคือความรู้สึกที่รับรู้ถึงความทุกข์ ทรมาน จากการเจ็บป่วย และได้รับรู้อีกว่าบางทีการรักษาพยาบาลก็ไม่สามารถทำได้ดีเท่าอย่างทีเราคิดหรอก

เราเลยเริ่มสนใจดูแลสุขภาพ พร้อมกับน้อมรับภาษิตที่ว่า "ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" อย่างเต็มหัวใจ ประกอบกับการคลุกคลีอยู่ในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องสุขภาพอย่างยายจุ๋ม และเพื่อนๆ ของยายจุ๋ม ซึ่งล้วนแต่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากันแล้วทั้งนั้น พอเมื่อวานไปงาน Thailand Research Expo 2015 มันมีหัวข้อที่เห็นแล้วสะดุ้งอ่ะ "คนไทยยุคใหม่หนีไม่พ้นโรคหัวใจ ไต เบาหวาน" ฟังแล้วมันทรมานจิตมาก คือคำว่าหนีไม่พ้นเนี่ย มันหมดทางเลยใช่ไหม? ทุกคนต้องเป็นเหรอ อยากรู้ ๆ เพราะงั้นขอไปฟังหน่อย เผื่อมีทางหนีที่ไล่ ไม่อยากเป็นโรคอะไรแล้ว

ทางด้านการบรรยายประกอบการวิจัยที่ใส่รสชาติของภาษาวิชาแพทย์ สำหรับเราก็นั่งงงกันไป แต่ก็ฟังไว้ให้หูมันคุ้นๆ ส่วนเรื่องที่พอเข้าใจได้ก็เป็นการบรรยายในแง่ของการปฏิบัติตัว เราต้องอยู่ในสังคมที่ดี มีความปลอดภัยทางกาย ใจ มีความมั่นคง และเป็นคนดี จริงๆ สุขภาพดีก็ยังไม่มีขายอยากได้ต้องทำเอง ก็คือการไปออกกำลังกาย  ไปคิดบวก ถ้าตัวเองดี คนรอบข้างดี สังคมดี ประเทศก็ดี ช่วงนี้เราก็ระส่ำระสาย ไม่รู้อะไรกัน ความสงบสุขมันไม่เกิด ก็เลยเกิดอาการวิตกกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าหากโชคดีกินได้ อาหารที่กินเข้าไปเป็นอะไร ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีหรือเปล่า มันก็มีรายละเอียดลงไปอีก

การชวนเชื่อให้เกิดการบริโภคในสิ่งที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพที่ดี ซึ่งเราก็รู้ว่ามันไม่ดีแหละ แต่มันอยากลองไง มันน่าจะไม่มีผลกับสุขภาพอะไรมากมายแค่ลองนิดหน่อย แต่เราก็เห็นแล้วจากตัวอย่างตามสื่อ ของจริงไกลตัว หรือใกล้ตัวก็ตาม ว่าต่อให้มีความมั่นใจว่าเอาอยู่แค่ไหน สุดท้ายก็อาจต้องพ่ายแพ้ต่อมัน

เรื่องของธุรกิจกับสุขภาพมันยังเป็นคนละเรื่องกันอยู่ ถึงบางอย่างจะบอกว่าเพื่อสุขภาพ แต่มันก็ต้องจ่ายแพงขึ้น  ขนมครกทั่วไป 1 กล่อง 20 บาท ถ้าเขียนว่าเพื่อสุขภาพ จะต้องควักเพิ่มอีก 10 บาทอะไรแบบนี้ ที่นี้เราเป็นคนบริโภคก็ต้องเลือกเอา ของดีไม่จำเป็นต้องราคาแพง และของแพงไม่แน่เสมอไปว่าเป็นของดีนะคะ

ส่วนที่เราคิดว่าสำคัญก็คือเราต้องเริ่มที่จะเลือกก่อนว่าเราอยากเป็นคนแบบไหนสุขภาพดี หรือไม่ดี เมื่อเลือกแล้ว ก็มาลงมือปฏิบัติ ซึ่งมันก็ง่ายแล้ว เพราะเรามีธงในใจแล้วนี่..จริงไหม??

สุดท้ายเราเอาแอปนี้มาฝากสำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแสดงผลการประเมินเป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และโรคเส้นเลือดสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้าซึ่งจะใช้ผลเลือด หรือไม่มีผลเลือดก็เอาขนาดรอบเอวกับส่วนสูงมาใช้แทน  เพิ่งมาเห็นว่าแบบประเมินความเสี่ยงนี้ความใช้กับคนไทยที่มีอายุ 35-70 ปียังไม่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่เราก็ทำเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว


Thai CV risk score
Application : Android
โดยศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น